Custom Search

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ทำไมราคาเชื้อเพลิงมาเลเซียถูกกว่าไทย? เราต้องทำอย่างไรถึงจะได้ใช้เชื้อเพลิงถูกอย่างมาเลเซีย

เชื่อว่าคงยังเป็นที่สงสัยของใครหลายๆ คน ว่าทำไมมาเลเซียขายเชื้อเพลิงถูกกว่าเรา แต่ก็ไม่มีใครไปหาเหตุผลมาบอกได้ว่ามาเลเซียเขาทำอย่างไร มีแต่คนที่ไม่หวังดีต่อประเทศเอาข้อเท็จจริงอันนี้ มาโจมตีบริษัทบางบริษัทว่าเอาเปรียบประชาชน และรัฐบาลว่าเก็บภาษีขูดเลือดขูดเนื้อคนไทย ราคาเชื้อเพลิงจึงแพง โดยไม่ดูสาเหตุอื่นประกอบเลย ดูแต่เรื่องราคา (อีกแล้ว) ผมจะพาไปดูกันนะ ว่ามาเลเซียเขาเป็นอย่างไร และทำอะไร ถึงทำให้ราคาเชื้อเพลิงถูก และสุดท้ายผู้อ่านก็ตัดสินกันเองละกัน ว่าอยากให้เมืองไทยเป็นแบบนั้นหรือไม่

หากคุณลองหาข้อมูลจากเวบไซต์ของปิโตรนาส แล้วศึกษาเองนะ จะพบความเป็นจริงดังต่อไปนี้

1. ปิโตรนาส ซึ่งเป็นของรัฐบาลมาเลเซีย กำไรมากกว่า ปตท อยู่อันดับสูงกว่าในเวทีโลกด้วยซ้ำ

2. งงไหมว่าทำไมเขาขายในประเทศถูก แต่รวยกว่าปตท??? เพราะปิโตรนาสเขาขุดก๊าซ/น้ำมันดิบขึ้นมา แล้วส่งออกน่ะสิ ส่งไปแถบ ญี่ปุ่น เกาหลี และอื่นๆ ขายได้แพงกว่าตั้ง 3-4 เท่าของราคาก๊าซในประเทศไทยนะ

3. อาจมีคนเถียงว่า ได้ยินว่าประเทศไทยเราก็ส่งออกหนิ น่าจะรวย... อย่าลืมว่าไทยเรานำเข้าน้ำมันดิบกว่า80% มากลั่นในประเทศ ได้น้ำมันสำเร็จรูป ถ้าเหลือเกินความต้องการในประเทศจึงส่งออก ไทยจึงได้แค่ค่าการกลั่น และปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออกนั้นจิ๊บจ้อยมาก แต่ที่มาเลเขาส่งออกนั้น ไม่ได้เป็นกำไรจากค่าการกลั่น มันเป็นกำไรจากธุรกิจสำรวจ ขุดเจาะ และผลิต ซึ่งรุ้ๆ กันว่า ธุรกิจนี้ High risk High Return (ใครยังไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างธุรกิจสำรวจ ขุดเจาะ และผลิต กับธุรกิจโรงกลั่น กรุณากลับไปอ่าน Episode I ถึง IV ดูก่อนนะ จะเข้าใจมากขึ้น)

4. กำไรปตท ของไทย จึงเทียบปิโตรนาสไม่ติด เพราะ ไทยไม่ได้ทำเพื่อการส่งออกอย่างปิโตรนาส ไทยไม่สามารถส่งออกได้เพราะลำพังกำลังการผลิตก๊าซและน้ำมันดิบในประเทศตอนนี้ก็ไม่พอกับคน 63 ล้านคนในประเทศแล้ว ต้องนำเข้าก๊าซประมาณ 30% ของการใช้ก๊าซทั่วประเทศ และน้ำมันดิบกว่า 80% ของการใช้น้ำมันดิบทั่วประเทศ ในขณะที่ีมาเล มีคนน้อยกว่าตั้งเยอะ (ประมาณ 27 ล้านคน) กำลังการผลิตเขามีเกินพอ จึงส่งออกได้ สถานการณ์มันต่างกันครับ จึงเทียบกันไม่ได้หรอก

5. ดังนั้น สิ่งที่มาเลทำ ตอนนี้ คือขุดทรัพยากรในประเทศ แล้วส่งออกไปขายนอกประเทศน่ะสิ!!! คนไทยยอมมั้ยล่ะ?? ขุดจากใต้ประเทศเราเอง แล้วเอาไปให้ประเทศอื่นใช้??

6. ตอนผมได้ยินการเปรียบเทียบเรื่องราคาเชื้อเพลิงของประเทศเรา กับมาเลครั้งแรก ผมฉุกคิดขึ้นมาทันทีว่า แล้วประเทศเพื่อนบ้านเราประเทศอื่นล่ะ พม่า ลาว กัมพูชา ที่ด้อยพัฒนากว่าเรา ค่าครองชีพถูกกว่าเรา ราคาเชื้อเพลิงเขาเป็นยังไง??? เกิดความสงสัยครับ เพราะเหมือนว่าคนที่เอาเรื่องมาเลมาพูดนั้น พูดไม่หมด ไม่ยอมเอาข้อมูลประเทศอื่นรอบๆไทย มาบอกด้วย...แล้วก็เป็นจริงอย่างที่ผมคิดครับ ราคา LPG ย้ำนะครับ LPG ที่ใช้หุงต้มในครัวเรือน ของเพื่อนบ้านเรา แพงกว่าที่เราใช้ทั้งหมด ทั้งๆที่ค่าครองชีพเขาต่ำกว่าเรามาก แต่ครัวเรือนเขากลับต้องจ่ายแพงกว่า สรุปว่า ไทยเราขาย LPG ถูกที่สุด เป็นลำดับที่สองของอาเซียน!!! รองจากมาเล เคยดูข้อมูลพวกนี้ประกอบบ้างไหมครับ???

7. มาเลขายน้ำมันถูก เพราะรัฐช่วยตรึงราคามาก (แต่ไทยรัฐเก็บภาษีหนักหน่วง) โดยเอาเงินที่กำไรมหาศาล จากการส่งออกก๊าซ/น้ำมันดิบ มาช่วยตรึงราคา นั่นแหละ ถามว่าเมืองไทยจะเอาบ้างไหมล่ะ ขุดในประเทศ แล้วส่งออกไปให้คนอื่นใช้ แล้วเอากำไรตรงนั้นมาเข้ากองทุนให้รัฐตรึงราคาให้ ยอมรับกันได้หรือเปล่า นี่แหละ เหตุผลที่ประเทศเค้าราคาถูก

สรุปคือ
แนวทางที่จะทำให้ราคาเชื้อเพลิงในประเทศเราถูกอย่างมาเลเซียคือ
1. คนไทยช่วยกันประหยัดพลังงานให้ไม่ต้องมีการนำเข้าอีกต่อไป จนมีเหลือใช้ (ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนไทยต้องใช้เชื้อเพลิงเพียง 20% ของที่ใช้กันอยู่ตอนนี้ เคยขับรถเดือนละ 30 วัน ลดให้เหลือเพียง 6 วันต่อเดือน นอกนั้นขี่จักรยาน/เดินไปนะ ห้ามนั่งรถเมล์ เพราะรถเมล์ก็ต้องใช้เชื้อเพลิง)
2. เมื่อไม่ต้องนำเข้าและมีเชื้อเพลิงเหลือใช้แล้ว ก็ให้ขุดเชื้อเพลิงที่เหลืออยู่ ส่งออกไปขายให้ประเทศอื่นให้หมด โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะไม่เหลือเชื้อเพลิงให้ลูกหลานไทยในอนาคตใช้กัน เพื่อให้ได้กำไรจากการส่งออกเชื้อเพลิง มาเข้ากองทุนน้ำมัน ลดภาระให้กับผู้บริโภค

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ปตท หรือ รัฐบาล แต่อยู่ที่คนไทยทุกคนที่ไม่เคยมีความคิดที่จะประหยัดพลังงานอยู่ในหัว จนสุดท้ายประเทศต้องเสียเงินนำเข้ามหาศาล และพอราคาแพงตามตลาดโลกที่ไปนำเข้ามา ก็กลับโทษผู้ขาย ทั้งๆที่ต้นตอของสาเหตุมันอยู่ที่ผู้ใช้ ที่ใช้อย่างไม่รู้จักความพอดี ระงับกิเลสตัณหาตัวเองไม่ได้ และนอกจากนี้ ผมอยากจะรู้ว่า มีคนไทยคนไหนมั่ง ที่มีเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะขุดทรัพยากรในประเทศ ส่งออกไปให้ประเทศอื่นแบบที่ประเทศมาเลเซียทำ??? ถ้ามันยังเป็นไปไม่ได้ ก็เลิกคิดเลิกหวังซะเถอะครับ ที่จะให้ราคาเชื้อเพลิงไทยต่ำเท่ามาเลเซีย เพราะถ้าให้รัฐบาลไทยช่วย Subsidize ราคาแบบมาเลเซียนะ งบทั้งกระทรวงจะพอรึเปล่ายังไม่รู้เลย จะให้รัฐหาเงินจากไหนกัน...

สุดท้ายนี้ ก็เหมือนเดิมครับ..อย่าพึ่งเชื่อผม ไปศึกษาบริษัทปิโตรนาสดูจากเวบไซต์ด้วยตัวคุณเอง แล้วดูซิว่า ผมพูดถูกหรือเปล่า ++++

วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

LPG ใครผิด?? ใครถูก??

เรื่องของ LPG นั้น เป็นประเด็นที่ผู้ใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา บ้างก็บอกว่าปตท. ขึ้นโรงแยกก๊าซฯ ช้า ผลิต LPG ไม่ทันใช้ บ้างก็ว่าภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีเป็นต้นเหตุทำให้มีใช้ไม่เพียงพอ บ้างก็ว่าให้ไปเก็บเงินที่นำเข้า LPG มาจากพวกอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี ส่วนคนใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ไม่ต้องจ่ายอะไร ฯลฯ ส่วนทางฝั่งผู้ผลิตและรัฐบาล ก็พยายามจะขึ้นราคา และลดปริมาณการใช้ LPG ในรถยนต์ เช่นนโยบายที่ให้ Taxi เปลี่ยนมาใช้ NGV

เหล่านี้เป็นประเด็นที่หลายคนขาดความเข้าใจ และใช้หลักการที่ว่า “เราถูกเสมอ คนอื่นแหละผิด” มาโดยตลอด ก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์อะไร อยากขอให้ย้อนดูสักนิดนะครับ ว่าอะไรเป็นอะไร และสิ่งที่พูดกันนั้นมันมาจากความรู้สึก หรือความจริง ต้องแยกให้ออกนะครับ มิฉะนั้นแล้ว บอกได้คำเดียวครับว่าประเทศชาติจะพัง!!!!

คงเคยได้ยินกันนะครับว่า หนึ่งนิ้ว ชี้ด่าคนอื่น สามนิ้วเนี่ยแหละที่ชี้ด่าตัวเองอยู่สำหรับคนที่ใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์แล้วออกมาโทษกลุ่มปิโตรเคมีว่าใช้เยอะ มาแย่งประชาชนเนี่ย ผมบอกได้เลยว่าหนึ่งนิ้วที่คุณใช้ชี้ด่าปิโตรเคมีเนี่ย จริงๆแล้วคุณกำลังด่าตัวเองอยู่!!!

อยากให้ทุกคนลองมองตั้งแต่หัวจรดเท้า แล้วค่อยๆ มองออกไปรอบๆ ตัวเรานะครับ ลองถามตัวเองว่ามีอะไรที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีบ้าง..........ผมเชื่อครับว่า หลายคนคงคิดว่ามีแค่พลาสติกหนิ ที่เป็นปิโตรเคมี แต่จริงๆแล้วแทบทุกอย่างเลยครับ ที่อยู่รอบๆตัวคุณมาจากกระบวนการทางปิโตรเคมีทั้งสิ้น ลองมาไล่กันดูนะครับ เริ่มตั้งแต่ในตัว....แว่นตา หมวก เสื้อผ้า กางเกง ตุ้มหู สร้อยข้อมือ กระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ ซองใส่โทรศัพท์ ถุงเท้า รองเท้า เป็นต้น และเมื่อลองมองออกไปรอบๆตัว.....ตั้งแต่ สบู่ แปรงสีฟัน อุปกรณ์เครื่องเขียน อุปกรณ์ไฟฟ้า สีทาบ้าน ฝ้าเพดาน ผ้าม่าน โซฟา เตียงนอน ปลั๊กไฟ กระเป๋า คอมพิวเตอร์ ยางรถยนต์และส่วนประกอบในรถยนต์...ล้วนทำมาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแทบทั้งสิ้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างเพียงเล็กน้อยนะครับ ถ้าให้ไล่ให้หมดเนี่ย คงจะเขียนต่อไปไม่ไหว เห็นอะไรไหมครับ...ที่คุณด่าว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกันอยู่ จริงๆแล้ว คุณกำลังด่าตัวคุณเองเนี่ยแหละ ที่เบียดเบียนเอา LPG ไปใช้ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นเพียงอุตสาหกรรมที่แปรรูป ก๊าซ ให้เป็นของใช้ประจำวันที่ประชาชนทุกคนใช้อยู่!!! อันนี้เป็นสัจธรรมและเป็นความจริงที่ไม่สามารถโต้แย้งได้นะครับ สำรวจตัวเองให้ทั่วๆก่อน แล้วค่อยวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังไม่สายครับ ถ้าทุกคนเห็นแก่ตัวกัน บอกว่าอยากใช้เชื้อเพลิงรถยนต์ถูกๆ จะใช้ LPG กันหมด ห้ามเอาไปทำปิโตรเคมีเด็ดขาด = ประเทศชาติล่มจม!!!!! นะครับ ลืมกันไปแล้วหรือครับว่า แก่นในการดำรงชีวิตคือปัจจัย 4 เสื้อผ้าที่คุณซื้อกันถูกๆ ผลิตกันได้ในประเทศเนี่ยก็มาจากปิโตรเคมี ที่อยู่อาศัยที่คุณอยู่ สิ่งของทุกอย่างยกเว้นตระกูลพวกไม้ เหล็ก ล้วนมาจากปิโตรเคมีทั้งสิ้น อาหาร ก็ต้องมีการทำบรรจุภัณฑ์ในลักษณะต่างๆ เพื่อให้คุณซื้อขาย เคลื่อนย้ายได้สะดวก ยารักษาโรค แน่นอนว่ามาจากปิโตรเคมี แต่สิ่งที่คนกำลังนำ LPG ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงกัน อยากถามครับว่าเป็นปัจจัยที่เท่าไหร่กัน????????? คนเขาใช้ปัจจัย 4 กันดีๆ อยู่ แล้วนี่ดันมาคิดอุตริมาเผาในรถกันจนต้องนำเข้า แล้วสุดท้าย ประชาชนส่วนใหญ่และประเทศชาติเดือดร้อน ต้องนำเงินกองทุนน้ำมันจากผู้ใช้น้ำมันไปทดแทนให้พวกคุณ ถามว่ามันยุติธรรมแล้วเหรอครับ???? คนใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ กำลังหาความยุติธรรมให้ตัวเอง โดยการโยนความผิดไปให้กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ด้วยเพียงความเห็นแก่ตัวที่อยากใช้ของถูก ที่รัฐควบคุมราคาอยู่...ใช้อะไรคิดกันครับเนี่ย

ประเด็นแรกผ่านไป คงจะไม่มีใครเถียงนะครับ เพราะมันเป็นความจริง เป็นสัจธรรมที่ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้....ทีนี้เราลองมาดูข้อมูลกันสักนิดว่า ปิโตรเคมีใช้กันเยอะแค่ไหน และปตท. ขึ้นโรงแยกก๊าซไม่ทันจริงหรือ?? เอาเป็นว่า ผมจะไล่อธิบายตั้งแต่รากของ LPG กันเลยนะครับว่ามายังไง แล้วกว่าจะได้ LPG มา ต้องทำอะไรกันบ้าง จนกระทั่ง LPG เข้าสู่ปิโตรเคมี ว่าเยอะอย่างที่ว่ากันหรือเปล่า

1. เมื่อขุดก๊าซธรรมชาติได้จากอ่าวไทย จะมีการต่อท่อนำเข้าสู่โรงแยกก๊าซฯ ซึ่งในก๊าซธรรมชาติ 100 หน่วย จะแยกออกมาได้โดยมีส่วนประกอบดังนี้

- มีเทน (C1) ประมาณ 80 หน่วย : นำไปป้อนโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้า / นำไปให้โรงงานอุตสาหกรรมเผาเป็นเชื้อเพลิง / นำไปทำเป็นก๊าซ NGV, CNG สำหรับรถยนต์

- อีเทน (C2), โพรเพน (C3), บิวเทน (C4), LPG (C3+C4), ก๊าซธรรมชาติเหลว ทั้งหมดนึ้รวมกันประมาณ 20 หน่วยเท่านั้น

จะเห็นได้ว่าปริมาณ LPG ที่แยกได้จากโรงแยกก๊าซฯ นั้น มีปริมาณไม่เยอะเลย เมื่อเทียบกับ C1 ที่นำไปทำเป็น NGV ทีนี้เห็นกันหรือยังว่า เรามี NGV เยอะ แต่ขาดแคลน LPG ดังนั้น การที่รัฐส่งเสริมให้มาใช้ NGV กันนั้น มีจุดประสงค์ เพื่อที่ประเทศชาติจะได้ไม่ต้องไปเสียดุล นำเข้ามาจากประเทศอื่น หัด”พอเพียง” ใช้ของที่เรามีอยู่กันเถอะครับ ถ้าไม่อยากใช้น้ำมัน...NGV เป็นทางเลือกครับ ไม่ใช่ LPG!!!

2. ทราบกันไหมครับว่า จุดประสงค์ในการสร้างโรงแยกก๊าซฯ นั้น ทำเพื่ออะไร??? แต่ก่อนนั้น มนุษย์ยังไม่รู้จักคุณค่าของก๊าซฯ เมื่อขุดขึ้นมาได้ก็นำมาเผาทิ้งเป็นเชื้อเพลิงกันหมด...แต่อยู่มาวันหนึ่ง อุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็ได้เติบโตขึ้นเพื่อสนองตอบความต้องการหลักๆของมนุษย์ นั่นก็คือปัจจัย 4 ซึ่งต้องใช้ก๊าซฯ เป็นวัตถุดิบ (วิชาเคมีเป็นวิชาที่เล่นแร่แปรธาตุ แปลงก๊าซฯ ให้มาเป็นของแข็งทั้งหลายที่ใช้กันอยู่เนี่ยแหละครับ) และก๊าซที่เหมาะจะใช้เป็นวัตถุดิบก็คือ ส่วนที่เป็น อีเทน โพรเพน บิวเทน LPG ก๊าซธรรมชาติเหลว ดังนั้นจุดประสงค์แรกเริ่มเดิมทีของการสร้างโรงแยกกาซฯ นั้น สร้างเพื่อแยกก๊าซฯที่มีประโยชน์และมีมูลค่า ให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครับ และส่วนที่ไม่มีมูลค่ามากนัก ในการจะเอาไปทำเป็นปัจจัย 4 อย่าง มีเทน ก็จะถูกแยกไปให้ใช้เผาเป็นเชื้อเพลิงอย่างพวก NGV นอกจากนี้แล้ว LPG ยังถูกนำไปใช้ในภาคครัวเรือน เป็นก๊าซหุงต้ม ซึ่งอันนี้ก็โอเคครับ เนื่องจากว่า LPG เป็นก๊าซที่บรรจุง่าย ขนย้ายสะดวก จึงเหมาะที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนสำหรับประชาชน และที่สำคัญคือ เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่ประชาชนต้องใช้ประกอบอาหาร การเอา LPG ไปใช้ในภาคครัวเรือนจึงไม่ถือว่าเสียหาย โดยภาครัฐยอมที่จะให้มีการควบคุมราคาเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งตรงนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ทีนี้เราลองมาดูข้อมูลกันบ้างดีกว่า ว่าใครเป็นผู้ทำให้ประเทศเสียหายในการทำให้ประเทศต้องนำเข้า LPG??












จาก http://www.eppo.go.th/info/2petroleum_stat.htm

คำอธิบายประกอบตาราง
:

Cooking คือกลุ่มครัวเรือน ที่เอามาใช้หุงต้ม (เผาเพื่อเอาความร้อนมาใช้)

Industry คือกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ (เผาเพื่อเอาความร้อนมาใช้)

Automobile คือกลุ่มที่เอามาเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ ในภาคขนส่ง (เผาเพื่อเอาความร้อนมาใช้ขับเคลื่อนรถ)

Feedstock คือกลุ่มที่นำมาเป็นวัตถุดิบในกลุ่มปิโตรเคมี (แปรรูปก๊าซ LPG ให้เป็นของใช้ประจำวันที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต)

Own used Feedstock คือการที่กลุ่มปิโตรเคมี นำ LPG ที่เป็น product ที่หลุดออกมาจากกระบวนการทางเคมี ย้อนกลับไปใช้ในระบบใหม่ เพื่อลดการสูญเสีย

ถ้าดูช่วงที่การใช้ LPG Peak จริงๆ ก็คงเป็นเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา ที่ราคาน้ำมันแพงมาก จนคนหันไปใช้ LPG กันหมดในรถยนต์ จะเห็นว่าเมื่อเทียบกับปี 2550 แล้ว ภาคขนส่งใช้มากขึ้นถึง 200 กิโลตัน ในขณะที่ปิโตรเคมีใช้มากขึ้นเพียง 100 กิโลตัน แต่หลายคนเข้าใจผิด เอา Own used เข้าไปรวมด้วยในส่วนที่ปิโตรเคมีใช้ แล้วบอกว่าปิโตรเคมีใช้เพิ่มขึ้นเยอะ มาแย่งภาคขนส่งใช้ จริงๆแล้วการนำ Own used เข้ามาคิดด้วยนั้น เป็นสิ่งที่ผิดครับ เพราะนั่นเป็นส่วนที่เป็นของเหลือของทางปิโตรเคมีที่เขาผลิตเองและนำกลับเข้าไปในระบบไปใช้เองเพื่อไม่ให้เกิด Loss ปล่อยออกมาทิ้ง ดังนั้น ส่วนที่ปิโตรเคมี ไปดึงมาจากโรงแยกก๊าซฯ จริงๆแล้วก็เพิ่มขึ้นเพียง 100 กิโลตัน ไม่ได้มีการไปแย่งภาคขนส่งแต่อย่างใด แต่การดูแค่นี้ก็ยังไม่พอครับ อยากให้ดูเลขที่เป็น % ด้วย ว่าการใช้โตปีละเท่าไหร่...

ก่อนจะไปดูเลข % โตในแต่ละปี อยากจะให้รู้กันสักนิดก่อนว่า ทำไมต้องดู % โดยเรื่องนี้มันไปเกี่ยวกับเรื่องที่พูดกันว่าปตท. สร้างโรงแยกก๊าซช้า และวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา ด้วยนะครับ

ในการสร้างโรงแยกก๊าซฯ นั้น ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าสั่งปุ๊บ ได้ปั๊บ สร้างกันที 4-5ปี นู่นแหละครับ กว่าจะเสร็จ ดังนั้นเวลาจะสร้าง ก็ต้องมองไปข้างหน้าถูกมั้ยครับ ว่าจะต้องสร้างโรงแยก ที่ผลิตได้เท่าไหร่ เพื่อให้เพียงพอในอนาคต ทีนี้เวลาจะมองไปข้างหน้า ก็ต้องคาดการณ์ว่า ปริมาณการใช้จากแต่ละกลุ่มผู้บริโภคจะโตขึ้นปีละกี่ % ซึ่งการคาดการณ์นี้ ก็คงต้องไปอิงกับในอดีต ว่าเคยโตปีละเท่าไหร่ แล้วจึงปรับด้วยปัจจัยต่างๆที่อาจเข้ามากระทบอีกทีหนึ่ง ดังนั้น ผมอยากพาทุกคนย้อนไปในอดีตเมื่อห้าปีที่แล้วครับ เมื่อตอนที่จะเริ่มสร้างโรงแยกก๊าซฯ ลองดูตัวเลขที่ผม Highlight สีเหลืองไว้ครับ จะเห็นว่าข้อมูลที่ Available ณ ขณะนั้นก็คือ Growth แต่ละปีจากในอดีต (ปี 99-03) ซึ่งการวางแผนที่จะสร้างโรงแยกฯ ก็ต้องอิงกับ Growth ตัวนี้เป็นหลัก แต่ลองมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นจริงครับว่าเกิดอะไรขึ้น....จะเห็นว่าปี 04-08 นั้น Growth ของการใช้ LPG ในปิโตรเคมีกลับตกลง จาก 15% เป็น 11% ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ในขณะที่ภาคขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง จากโตปีละ 23% เป็น 36% (ลองเปรียบเทียบง่ายๆนะครับว่าถ้าคุณเคยฝากเงินธนาคารไว้ แล้วธนาคารให้ดอกเบี้ยปีละ 23% อยู่ดีๆ กลายเป็น อยู่ดีๆ กลายเป็น 36% คุณได้มากขึ้นแค่ไหน) เยอะมากนะครับ เห็นตัวเลขแล้ว คิดว่าอะไรครับ ที่ทำให้เกิดปัญหา?? ผมไม่โทษกลุ่มคนที่ใช้ LPG ในรถ แต่ผมโทษราคาครับ ราคา LPG ที่ขายภาคขนส่งถูกควบคุมไว้ที่ราคาที่ต่ำกว่าน้ำมันมาก จึงทำให้คนแห่กันไปใช้ โดยจริงๆแล้ว การควบคุมราคาในลักษณะนี้ ควรจะคุมสำหรับภาคครัวเรือนก็พอครับ นโยบายการคุมราคา LPG ให้กับผู้ใช้รถ เป็นนโยบายที่ทำลายประเทศ และประชาชนในระยะยาว โดยมีผู้ได้ผลประโยชน์คือคนกลุ่มน้อยที่ใช้รถ LPG แล้วถ้าคนไทยยังไม่ตระหนักตรงจุดนี้ และยังพยายามที่จะใช้กันอยู่ใน Rate เท่านี้เนี่ย กองทุนน้ำมันก็กองทุนน้ำมันเถอะครับ เอาไม่อยู่แน่ๆ แล้วรัฐจะเอาเงินจากไหนมาชดเชยให้พวกคุณครับ เผลอๆ คุณกำลังจะกลายเป็นคนที่คอร์รัปชั่นโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะคุณกำลังเอาเงินภาษีของประชาชนทุกคนมาช่วยจ่ายให้คุณใช้ LPG ราคาถูก เหมือนอย่างที่คุณด่านักการเมืองกันว่าโกงกินภาษีประชาชน นั่นแหละครับ จะเห็นว่า Growth ของการใช้ LPG จากกลุ่มปิโตรเคมีนั้นลดลงเรื่อยๆนะครับ อันนี้ตัวเลขก็โชว์ให้เห็นกันอยู่ แค่จะไปโทษคนอื่นก็ผิดแล้วล่ะครับ ตัวเลขมันฟ้องอยู่ นอกจากนี้แล้วก็มีอีกหลายคนนะครับ ที่พยายามจะโบ้ยผลักภาระราคานำเข้าไปให้ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่หารู้ไม่ครับว่า ปิโตรเคมีเขาจ่าย LPG ที่ราคาอิงราคาตลาดโลกอยู่แล้ว เหลือแต่ภาคขนส่ง กับภาคครัวเรือนล่ะครับ ที่จ่ายที่ราคาต่ำมาก ซึ่งแน่นอนครับ การSubsidize สำหรับครัวเรือนเป็นสิ่งที่สมควรทำ...ทีนี้ก็เหลืออยู่ภาคเดียวที่ยังลอยนวล ที่เป็นผู้ทำให้เกิดการนำเข้าที่ราคาแพง แต่ไม่ยอมจ่ายที่ราคานั้น

ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมานี้ ดูเหมือนว่าการขึ้นราคาสำหรับภาคขนส่งจะเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยนะครับที่จะขึ้นราคา เพราะยังไงๆ คนที่มันจะใช้ก็ลักลอบเอาก๊าซหุงต้มที่อยู่ในถังของภาคครัวเรือนมาใช้ในรถกันได้อยู่ดี ดังนั้นการขึ้นราคาคงไม่ช่วยอะไรมากนัก แต่สิ่งที่ควรทำคือ คนไทยทุกคนควรตระหนักครับ ว่า LPG ไม่ใช่สิ่งที่ควรนำไปทดแทนน้ำมัน แต่เป็น NGV ต่างหากล่ะครับ ที่เหมาะสม เพราะแหล่งพลังงานในประเทศของเรามันเอื้อกับการใช้ในลักษณะนี้ อย่าเอาไปเทียบกับประเทศอื่นเลยนะครับ มันคนละ Situation กัน ซึ่งนโยบายรัฐในปัจจุบัน ที่พยายามเปลี่ยนให้รถหันมาใช้ NGV กันมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมครับ และทุกคนควรให้ความร่วมมือด้วยครับ มิฉะนั้นแล้ว..คุณได้..แต่ประเทศพัง อยากเห็นแก่ตัวหรืออยากทำเพื่อส่วนรวมก็เลือกกันเอาเองนะครับ ผมก็ได้แต่หวังว่าคนไทยจะมีจิตสำนึกที่จะทำเพื่อประเทศมากกว่าเพื่อตัวเองบ้าง หลายคนว่านักการเมืองว่าไม่ทำเพื่อประเทศ หาแต่ประโยชน์ส่วนตัว แล้วคุณล่ะครับ!!! เริ่มทำอะไรหรือยัง?? ที่จะทำเพื่อประเทศไทยของเรา ใครใช้อยู่แล้วก็ไม่เป็นไรครับ แต่ใครที่จะเริ่มเปลี่ยนมาใช้...หยุดคิดสักนิด อย่าทำให้สถานการณ์พลังงานในบ้านเรามันย่ำแย่ไปกว่านี้เลยครับ


วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552

พลังงานไทย..อย่าให้ใครดูถูก Episode III

" เนื่องจากปั๊มน้ำมัน Mobil ที่เคยอยู่หน้าบ้าน ได้ปิดตัวลงไปแล้ว จึงขออุทิศเรื่องราวใน Blog นี้ ได้เป็นสิ่งเตือนใจว่า บริษัทอื่นที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทย ก็อยู่ต่อไปไม่ไหวเหมือนกันในสภาพการถูกควบคุมและแทรกแซงราคาน้ำมันเช่นนี้"

โลกแห่งการกลั่นน้ำมัน (ต่อ)

3. โรงกลั่นน้ำมันนำ น้ำมันดิบเข้าสู่หอกลั่นแล้วได้เป็นน้ำมันสำเร็จรูป (Oil Products) ต่างๆ เช่น เบนซิน ดีเซล และน้ำมันอื่นๆอีกมากมาย

เมื่อจัดการเรื่องการนำเข้าน้ำมันดิบเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จะมาเริ่มกลั่นน้ำมันดิบกันนะครับ คุณรู้หรือไม่ว่า น้ำมันดิบที่นำเข้ามา เมื่อกลั่นแล้ว ได้น้ำมันหลายชนิด ไล่ตั้งแต่ gasoline, diesel oil, liquefied petroleum gases (LPG), jet aircraft fuel, kerosene, heating fuel oils, lubricating oils, asphalt and petroleum coke รวมแล้วเกือบๆ 10 ตัวแน่ะ แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ทุกตัวที่ค่าการกลั่นเป็นบวกนะครับ ค่าการกลั่นเป็นลบก็มี แปลว่าอะไร แปลว่าเมื่อนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นแล้ว จะมีน้ำมันสำเร็จรูปส่วนหนึ่งที่ขายได้ต่ำกว่าราคาต้นทุน!!!

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงของโรงกลั่นในการดำเนินการ เพราะถ้าราคาของน้ำมันสำเร็จรูปส่วนนี้ลด ต่ำลงอย่างมาก ก็จะไปฉุดผลประกอบการของบริษัทเช่นกัน

4. การนำน้ำมันสำเร็จรูปออกมาขายที่ราคา ณ โรงกลั่น

ทราบหรือไม่ว่าค่าการกลั่นเป็นเท่าไหร่?? วิธีคิดก็ง่ายๆครับ เอาราคาขาย ลบต้นทุน ถูกไหมครับ ซึ่งนั่นก็คือ ราคาน้ำมัน (สำเร็จรูป) ณ โรงกลั่น – ราคานำเข้าน้ำมันดิบ เราจะมาดูกันนะครับ ว่าที่เป็นประเด็นกันนักหนา ว่าค่าการกลั่นบวกอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมดเลยนี่ มันจะซักกี่บาทกันเชียว เริ่มจากราคานำเข้าน้ำมันดิบที่เป็นต้นทุนก่อนนะครับ ซึ่งข้อมูลล่าสุดเดือน กรกฎาคม ปี 2552 อยู่ที่ 14.93 บาท/ลิตร ( http://www.doeb.go.th/information/info_conclude52.html) แล้วลองมาดูราคาน้ำมัน (สำเร็จรูป) ณ โรงกลั่น จากโครงสร้างราคาน้ำมันวันที่ 21 กรกฎาคม 2552 ดังตารางด้านล่าง(http://www.eppo.go.th/petro/price/index.html)

ที่ต้องเลือกวันที่ 21 เพราะราคาน้ำมันมันเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งเดือน จึงต้องหาวันที่ดูแล้วน่าจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของทั้งเดือนมากที่สุด เพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบกับราคานำเข้าเฉลี่ยเดือนกรกฎาคม ที่อยู่ที่ 14.93 บาท/ลิตร ลองมาไล่หากันทีละตัวเลยนะครับ ว่าค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้เป็นเท่าไหร่






บาท/ลิตร


ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น

ราคานำเข้าน้ำมันดิบ

ค่าการกลั่น

ค่าการกลั่น+ราคา Ethanol/น้ำมันปาล์มที่นำมาผสม


(AVG)

(AVG)

(AVG)

(AVG)

ULG 95R ; UNL

15.9127

14.93

0.9827

-

ULG 91R ; UNL

15.4921

14.93

0.5621

-

GASOHOL95 E10

16.585

14.93

-

1.655

GASOHOL91

16.4001

14.93

-

1.4701

GASOHOL95 E20

17.1627

14.93

-

2.2327

GASOHOL95 E85

19.9819

14.93

-

5.0519

H-DIESEL(0.035%S)

15.9575

14.93

1.0275

-

BIODIESEL (B5)

16.2817

14.93

-

1.3517

FO 600 (1) 2%S

13.8757

14.93

-1.0543

-

FO 1500 (2) 2%S

13.9438

14.93

-0.9862

-

LPG (B/KG.)

10.996

14.93

-3.934

-

จะเห็นว่าค่าการกลั่นอยู่แถวๆ 1-2 บาท/ลิตรเท่านั้นเองนะครับ ที่โรงกลั่นได้ส่วนต่างนี้ไป และจะเห็นว่าน้ำมันเตา (FO) และ LPG มีค่าการกลั่นติดลบ โดยที่ LPG นั้นถูกควบคุมราคาไว้โดยรัฐบาล ส่วนน้ำมัน Gasohol 95, 91 ทั้งหลาย และ Biodiesel ค่าการกลั่นก็จะเท่ากับ เบนซิน 95, 91 และ Diesel แต่ที่ราคา ณ โรงกลั่นสูงกว่าเนื่องจากต้องมีการรวมต้นทุนค่า Ethanol/น้ำมันปาล์ม ที่นำมาผสมเข้าไปด้วย ดังแสดงไว้ในช่องทางขวามือสุด

ดังนั้นคุณจ่าย ค่าการกลั่นเพียง 1-2 บาท/ลิตร จากที่คุณจ่ายค่าน้ำมันทั้งหมด 30-40 บาท/ลิตร และถึงโรงกลั่นจะไม่เอาค่าการกลั่นเลย ตัดทิ้งไปให้หมด ก็ไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันถูกลงได้มาก อย่างที่ทุกคนต้องการ และจากตารางโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปทางด้านบน จะเห็นว่าที่ประชาชนตาดำๆ ต้องจ่ายกันอย่างสิ้นเปลือง ประกอบด้วย ภาษีต่างๆ กองทุนต่างๆ และต้นทุนนำเข้าน้ำมันดิบซึ่งเฉพาะต้นทุนนี่ก็ปาเข้าไป 14.93 บาท/ลิตรแล้ว

ค่าการกลั่นนี้ก็เป็นเพียงกำไรขั้นต้น (ราคาขายน้ำมันสำเร็จรูป – ราคาซื้อน้ำมันดิบ) เท่านั้น ซึ่งกำไรส่วนนี้ต้องเอาไปหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าแรงคนงาน ค่าบำรุงรักษา ต้นทุนที่ได้ลงทุนไปในการสร้างโรงกลั่น ต้นทุนทางการเงิน ค่าใช้จ่ายทางภาษีต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเมื่อหักลบแล้วจึงจะได้กำไรสุทธิของโรงกลั่น ดังนั้นกำไรสุทธิของโรงกลั่นแต่ละโรง มากน้อยแตกต่างกันตรงการบริหารจัดการต้นทุนเหล่านี้ครับ

อันนี้เป็นเพียงเรื่องของราคาและค่าการกลั่น ไหนๆก็ไหนๆแล้วครับ อย่าดูแต่เรื่องของราคาเลย มันแคบไปครับ เรามาดูปัจจัยอื่นกันบ้างดีกว่าครับ

ข้าวมันไก่ VS โรงกลั่น

เอาใกล้ๆ ตัว ที่กินกันบ่อยๆ เนี่ยล่ะครับ จะเป็นตัวอย่างได้ดีที่สุด โดยปกติ เราจะเห็นไก่ต้มทั้งตัว แขวนอยู่ตามร้านข้าวมันไก่ เนื่องจากลูกค้า ก็มีความต้องการลักษณะเนื้อไก่ที่แตกต่างกัน บางคนสั่งเนื้อล้วน บางคนสั่งเนื้อหนัง บางคนชอบเนื้อน่อง บางคนชอบเนื้อหน้าอก บางคน..สั่งๆมาเหอะ กินได้หมด ความต้องการของคนกินมีหลากหลาย ในขณะที่ไก่ 1 ตัว มีปริมาณเนื้อแต่ละส่วนที่ Fix อยู่แล้ว กล่าวคือ มี 1 หน้าอก 2 น่อง 2 สะโพก 2 ปีก อะไรประมาณนี้ สมมติว่าลูกค้าในร้านข้าวมันไก่ของคุณชอบกินเนื้อหน้าอกกันเหลือเกิ๊นนนน ไม่ว่าหน้าใหม่หน้าเก่าที่แวะเวียนมา ก็จะสั่งแต่เนื้อหน้าอก แต่อย่างที่บอกคือ ไก่ยังมีเนื้อส่วนอื่นๆ ทีนี้ทำยังไงล่ะครับ 1 ตัว มีอกอยู่ 1 แต่มีส่วนอื่นๆ อยู่ตั้งส่วนละ 2 ก็ของเหลือเต็มเลยน่ะสิครับ คุณมีสองทางเลือกคือ ไม่เอาไปขายต่อวันพรุ่งนี้ หรือไม่ก็ต้องทิ้งไป ทีนี้เรื่องนี้มันเกี่ยวกับโรงกลั่นอย่างไร?? ไก่ 1 ตัว ก็เหมือนน้ำมันดิบครับ ที่มีสัดส่วน (yield) ที่จะสามารถกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละตัวอยู่ เช่น น้ำมันดิบ 100 บาร์เรล เมื่อกลั่นแล้วอาจจะได้เบนซิน 20 บาร์เรล ดีเซล 40 บาร์เรล น้ำมันอากาศยาน 10 บาร์เรล น้ำมันเตา 10 บาร์เรล และอื่นๆอีก 20 บาร์เรล ทั้งนี้ตัวเลขสัดส่วน (yield) เหล่านี้ ก็จะแตกต่างกันไปตามแหล่งที่มาของน้ำมันดิบ เช่น น้ำมันดิบจากบางที่ อาจกลั่นแล้วได้ Diesel เยอะ มาก ในขณะที่บางแหล่งอาจจะได้เบนซินเยอะ (อันนี้ คอร์สเคมีอาจารย์อุ๊ ม.ปลายก็มี) ปัญหามันอยู่ผู้ซื้อครับ ผู้บริโภคน้ำมันอย่างเราๆ มีความต้องการที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับลูกค้าข้าวมันไก่ สมมติว่าประเทศเราบริโภคน้ำมันเบนซินกัน 40 บาร์เรล และดีเซล 40 บาร์เรล ผมถามว่าถ้านำเข้าน้ำมันดิบ ที่มีสัดส่วน (yield) แบบที่กล่าวทางด้านบนมา จะต้องนำเข้าเท่าไหร่จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนครับ? 200 บาร์เรลถูกไหมครับ เพราะ 100 บาร์เรลได้เบนซินเพียง 20 บาร์เรล แต่เมื่อนำเข้ามา 200 บาร์เรล ก็จะได้ดีเซล 80 บาร์เรลเป็นเงาตามตัว ในขณะที่ภายในประเทศใช้กันเพียง 40 บาร์เรล ดีเซลที่เหลืออีก 40 บาร์เรลคุณจะเอาไปทิ้งแบบเนื้อไก่ หรือจะส่งออกไปขายต่างประเทศครับ?? นี่ล่ะครับ ที่มาของการส่งออก ซึ่งจริงๆแล้วการส่งออก ไม่ได้เกิดจากการที่ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานเหลือเฟือ แต่เกิดจากการนำเข้าน้ำมันดิบที่มี spec ไม่ตรงกับความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปของคนในประเทศมากลั่น ทำให้มีน้ำมันสำเร็จรูปเหลือส่งออกได้ หลายคนอาจจะถามต่อว่า แล้วทำไมไม่นำเข้าน้ำมันดิบที่มี spec ตรงตาม Demand ของประเทศไทยล่ะ? เพราะเราไม่สามารถกำหนด spec ของน้ำมันดิบเองได้ครับ มันขึ้นมาจากใต้ดินแบบไหน เราก็ต้องใช้แบบนั้นไป

Comment: ข้อมูลในหน้า 5 จากหนังสือพลังงานไทย..พลังงานใคร?

ก. การใช้คำว่า “ส่งออกน้ำมัน” หรือ “ส่งออกพลังงาน” ฟังแล้วก็ไม่ผิดอะไร แต่ว่ามันเป็นการ Mislead ผู้อ่านอย่างรุนแรงครับ เพราะจริงๆ แล้วที่เราส่งออกคือน้ำมันสำเร็จรูปส่วนเกิน ที่ผลิตมาจากน้ำมันดิบที่ต้องนำเข้ามา การสื่อความเช่นนี้ทำให้ผู้อ่านคิดว่าประเทศไทยมีน้ำมันเหลือเฟือจนถึงขั้นส่งออกได้แต่จริงๆแล้ววัตถุดิบ ประเทศไทยต้องนำเข้าครับ อย่างที่เขียนไว้ใน Episode I ครับ ว่าอย่าสับสนคำว่า น้ำมันดิบ กับน้ำมันสำเร็จรูป เพราะตอนนี้เอามาปนกันจนวิเคราะห์ผิดไปหมด เวลาจะสื่อสารต้องสื่อสารให้ชัดเจนและมีความถูกต้อง ด้วยนะครับ คำเพียง สองสามคำ ก็ทำให้ข้อเท็จจริงถูกบิดเบือนไปได้ครับ

ตัวอย่างการใช้คำในหน้า 5 ที่ไม่ค่อยจะถูกต้องนักจากหนังสือ "พลังงานไทย..พลังงานใคร?" ครับ

Comment: ข้อมูลในหน้า 6 จากหนังสือพลังงานไทย..พลังงานใคร?

ก. หน้านี้ยิ่งไปกันใหญ่เลยครับ เป็นความสับสนของผู้เขียน ระหว่างคำว่าน้ำมันดิบ กับน้ำมันสำเร็จรูปอีกตามเคย ถ้าพูดว่าเราไม่ได้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปน่ะ ถูกต้องครับ แต่ถ้าบอกว่าไม่ได้นำเข้าน้ำมันดิบและสูบขึ้นมาจากใต้ดินเราได้เองและเพียงพอเนี่ย ผิดครับ เรากลั่นน้ำมันสำเร็จรูปได้ในประเทศก็จริง แต่วัตถุดิบซึ่งก็คือน้ำมันดิบที่นำมากลั่น มันนำเข้ามาแทบทั้งนั้น (อ่านรายละเอียดได้ใน Episode I) อย่างนี้จะไม่ให้อิงราคาตลาดโลกที่ตลาดในประเทศสิงคโปร์ได้อย่างไรกันล่ะครับ ถ้าไม่อิง ผู้ขายก็ขาดทุนสิครับ แล้วใครจะลงทุนต่อล่ะ?? แล้วยิ่งบอกว่าเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันหลายบ่อเนี่ย หลายบ่อจริงครับ แต่คิดเป็นแค่ 15% ของปริมาณการใช้ทั่วประเทศทั้งหมดนะครับ ไม่เหมือนประเทศมาเลเซียที่เขามีน้ำมันดิบเพียงพอใช้ภายในประเทศของเขาเอง น้ำมันสำเร็จรูปที่เขากลั่นจึงขายที่ราคาถูกกว่าเราได้

ข. เรื่องราคาที่อิงราคาตลาดโลกที่ตลาดในประเทศสิงคโปร์นั้น มันไม่ใช่แค่เสมือนนำเข้าครับ มันนำเข้าจริงๆเลยครับ ผมแปลกใจนะครับ ที่ข้อมูลที่ผมนำมา ก็เป็นแหล่งข้อมูลเดียวกันกับที่หนังสือเล่มนี้นำมา แต่ทำไมหนังสือเล่มนี้จึงเขียนเช่นนี้ เรื่องของพลังงานเอามาแต่ตัวเลขไม่ได้ครับ ต้องมีความเข้าใจด้วย

ตัวอย่างความสับสนที่ยังคงคิดว่ามีน้ำมันดิบเพียงพอในประเทศ อยู่ในหน้า 6 จากหนังสือ "พลังงานไทย..พลังงานใคร?" ครับ

Comment: ข้อมูลในหน้า 7 จากหนังสือพลังงานไทย..พลังงานใคร??

ก. อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วครับ ว่าค่าการกลั่น และค่าโสหุ้ย นั้น มันไม่ได้เป็นกำไร 100% ครับ อย่าเข้าใจผิด คนที่เคยเรียนบัญชีมา คงเข้าใจที่ผมพูดได้ไม่ยาก ถ้าจะวิเคราะห์เรื่องนี้ ผมขอนะครับ มี Basic ทางบัญชีมานิดนึงก็ยังดี จะได้ไม่ตีความตัวเลขไปผิดๆ ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้ไปนั้นเป็นเพียงกำไรขั้นต้น ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าแรงคนงาน ค่าบำรุงรักษา ต้นทุนที่ได้ลงทุนไปในการสร้างโรงกลั่น ต้นทุนทางการเงิน ค่าใช้จ่ายทางภาษีต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเมื่อหักลบแล้วจึงจะได้กำไรสุทธิของโรงกลั่น ค่าการกลั่นนี้แหละ ที่เป็นเงินที่โรงกลั่นเขาเอาไปใช้ในการทำให้กระบวนการกลั่นสามารถดำเนินการต่อไปได้ มิฉะนั้นแล้ว จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าแรง ค่าซ่อมบำรุง ค่าลงทุน ค่าภาษี ฯลฯ ครับ แต่ผมก็เห็นด้วยนะครับ ว่าควรตัดบางค่าทิ้งไปเช่น ค่าขนส่ง ค่าสูญเสีย ค่าประกัน แต่ถามว่าเมื่อตัดแล้ว มันจะช่วยผู้บริโภคได้มากจริงหรือ ลองกลับไปอ่านหัวข้อที่ 4 ของ Episode III ครับ ค่าการกลั่น+ค่าโสหุ้ย แค่ 1-2 บาท/ลิตรเอง ซึ่งผมว่าถ้าหักพวกค่าขนส่ง ค่าประกันออกไป คงหักได้ไม่เกินบาทนึง ถามว่าผู้บริโภคจะรู้สึกว่าราคาน้ำมันถูกลงหรือไม่ครับ ผมคนนึงล่ะครับที่ไม่รู้สึก เพราะมันแค่บาทเดียว สู้ไปลดภาษีนู่นนี่ ที่แฝงอยู่ในราคาน้ำมันตั้ง 10-20 บาท/ลิตร ไม่ดีกว่าเหรอครับ

ตัวอย่างเรื่องของค่าการกลั่น อยู่ในหน้า 7 จากหนังสือ "พลังงานไทย..พลังงานใคร?" ครับ

Comment: ข้อมูลในหน้า 8 และ 9 จากหนังสือพลังงานไทย..พลังงานใคร?

ก. ธุรกิจการกลั่นมีแต่กำไรจริงหรือ?? ตัวเลขปี 2551 ที่ผ่านมา น่าจะแสดงให้เห็นแล้วนะครับ ว่าคุณสรุปผิด ธุรกิจนี้มีวัฏจักรครับ 7-8 ปีที่แล้วนู้น ธุรกิจการกลั่นก็ติดลบกันระนาว ถ้าคุณเห็นตัวเลขติดลบว่ามันคือกำไร ผมก็ยอมล่ะครับ แต่ถ้าเงินในกระเป๋าคุณมันติดลบ ผมหวังว่าคุณคงไม่หลอกตัวเองนะครับว่าคุณมีเงิน

ข. เรื่อง นำเข้าก็ยังคงเข้าใจผิดเหมือนเดิมนะครับในหน้านี้ ไม่ได้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมาก็จริง แต่ยังไงๆ ก็ต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นครับ อาจเรียกได้ว่าเป็นการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปทางอ้อมก็ได้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปได้เกินความต้องการก็จริง แต่ที่กลั่นนั้น มาจากวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าทั้งนั้นครับ อย่าลืม!!! และการว่ารัฐบาลเช่นนี้มันก็ออกจะไม่เป็นธรรมไปสักหน่อย จำได้ไหมครับ ว่ารัฐต้องการให้คนไทยรู้จักคุณค่าของพลังงาน ถ้าราคาถูกเกินไปรับรองว่าพี่ไทยผลาญกันแน่นอนครับ รัฐจึงต้องพยายามคุมราคาไม่ให้ต่ำเกิน หรือสูงเกินไป แต่ต้องตั้งให้อยู่ในระดับที่คนไทยจะมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งพลังงาน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ให้อยู่ยืนยาวไปจนชั่วลูกชั่วหลานครับ

ค. เรื่องค่าโสหุ้ย เห็นด้วยครับ ที่สามารถหักบางตัวออกไปได้ แต่มันไม่เยอะอย่างที่คุณวาดหวังไว้หรอกนะครับ ที่สำคัญคือเมื่อหักออกไปแล้ว ประชาชนจะไม่รู้สึกหรอกครับ ว่าน้ำมันถูกลง นอกจากนี้แล้วจะไปเพิ่มความเสี่ยงให้กับโรงกลั่นอย่างที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อที่ 2 ของ Episode II ครับว่า อาจจะไปทำลายสภาพคล่องของโรงกลั่นเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น ใครจะมากลั่นน้ำมันให้ประชาชนใช้กันล่ะครับ จะทำอะไรต้องดู Trade-off ดีๆ นะครับ อย่ามองเพียงระยะสั้นด้วยความเห็นแก่ตัว เพราะผลกระทบในระยะยาวต่อประเทศมันจะไม่คุ้มกัน เข้าใจครับว่ามีความหวังดีต่อประชาชน แต่อย่าลืมดูผลกระทบที่จะตามมา เพราะมันไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องของการลดราคา แต่มันอาจจะเป็นภัยและส่งผลร้ายต่อประเทศได้ด้วยครับ เวลามองอะไร อยากให้มองผลกระทบในหลายๆด้าน ที่จะเกิดขึ้นกับ Stakeholder ทั้งหมด ไม่ใช่มองแต่ผู้บริโภคด้านเดียวครับ

ตัวอย่างความเข้าใจผิดในธุรกิจการกลั่น อยู่ในหน้า 8 และ 9 จากหนังสือ "พลังงานไทย..พลังงานใคร?" ครับ

Comment: ข้อมูลในหน้า 10 จากหนังสือพลังงานไทย..พลังงานใคร?

ก. อันนี้ก็นานาจิตตังนะครับ เพราะถ้ายังไม่เข้าใจธุรกิจพลังงานอย่างแท้จริง ก็จะยังคงเห็นว่าประชาชนเสียประโยชน์อยู่วันยังค่ำ โดยที่บริษัทเอกชนได้ประโยชน์ไปเต็มๆ แต่จริงๆแล้วผมกลับคิดว่าผู้กำผลประโยชน์ที่แท้จริงคือรัฐบาลครับ ในขณะที่ประชาชน และบริษัทเอกชนไม่ได้ไม่เสียอะไร ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ เพราะรัฐบาลได้รับภาษีไปเต็มๆ โดยไม่ต้องลงทุนและไม่มีความเสี่ยงใดๆ เลยทั้งสิ้น ซึ่งตรงนี้แปลว่าประเทศได้ประโยชน์ครับ เงินภาษีเอาไปบริหารประเทศ ส่วนประชาชนนั้นแม้จะจ่ายค่าน้ำมันแพง (จากภาษีให้ภาครัฐเป็นหลัก) แต่ค่าก๊าซที่ใช้กันยังถือว่าถูกมาก (รัฐและบริษัทเอกชนช่วยกัน Subsidize) ซึ่งจุดนี้เป็นกำไรของประชาชน ในขณะที่บริษัทเอกชนขายน้ำมันที่ราคาปกติ (อิงตามราคาวัตถุดิบที่ต้องนำเข้า) ซึ่งก็มีกำไรบ้าง แต่ก็ยังต้องขายก๊าซด้วยราคาที่ขาดทุน บริษัทเอกชนจึงถือว่าไม่ได้ไม่เสียอะไร ทำไมกำไรเยอะ แต่ผมถึงบอกว่าไม่ได้ไม่เสียอะไรล่ะ ก็เรื่องเดิมนั่นแหละครับ คุณคิดว่ากำไรเยอะเพราะเห็นตัวเลขเป็นหลักหมื่นล้าน ใช้ความรู้สึกตัดสินเอาว่าหลักหมื่นล้านมันเยอะ แต่คุณลืมเทียบไปว่า บริษัทเหล่านี้ใช้เงินลงทุนไปมหาศาลสักแค่ไหน เขาลงทุนกันเป็นหลักแสนล้าน ถึง ล้านล้านบาทนะครับ จึงไม่แปลกที่เขาจะมีกำไรเป็นตัวเลขถึงขนาดนี้ ถึงแม้ Margin จะต่ำ แต่เขาได้เยอะจาก Volume ที่ขาย ซึ่งก็ต้องอาศัยการลงทุนสร้าง Facility ที่ใหญ่ ใช้เงินเยอะ และความเสี่ยงสูงด้วย ถ้าลองคิดกำไรที่ได้ต่อเงินที่ลงทุนไปเป็นเปอเซ็นต์ มันก็อยู่ในระดับที่ธุรกิจพอจะดำเนินงานต่อไปได้เท่านั้นเอง ไม่ได้มากมายอะไรเลย

ข. พูดถึงเรื่องการผูกขาด ผมก็ไม่แน่ใจนะครับ ว่าคนไทย รวมไปถึงท่าน ส.ว. ต้องการแบบไหนกันแน่ จะเอาผูกขาด หรือจะเอาเสรี ถ้าคุณต้องการเสรี ตอนนี้โรงกลั่นและราคาพลังงานก็เสรีอยู่แล้วครับ แต่ละโรงกลั่นถึงแม้จะมี ปตท เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่การแข่งขันระหว่างโรงกลั่นมันก็ยังคงมีอยู่ครับ แต่เมื่อไหร่ที่คุณเข้าไปแทรกแซง ด้วยการหักค่าโสหุ้ยต่างๆทิ้งไป เมื่อนั้นตลาดจะเริ่มกลายเป็นตลาดผูกขาดครับ ลองคิดดูดีๆนะครับ เมื่อมีการควบคุมราคาเกิดขึ้นนั่นหมายความว่า คนทั่วๆไป จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจนี้ได้ยากขึ้น เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่ธุรกิจอาจจะขาดทุนได้ ดังนั้นจะไม่มีใครนำเม็ดเงินเข้าไปลงทุน และกรณีเช่นนี้ล่ะครับ ที่ผมจะเรียกว่าตลาดผูกขาด และเป็นการกีดกันตลาดเสรีเพื่อไม่ให้มีคนเข้าไปแข่งขันกัน ดังนั้นการเรียกร้องให้คุมราคา เปรียบเสมือนการต้องการให้เกิดตลาดผูกขาดขึ้นนะครับ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วตกลงว่าอยากได้ตลาดผูกขาด หรือเสรีกันล่ะครับ?? ถ้าเสรีก็อย่างที่เป็นอยู่ แต่ถ้าต้องการตลาดผูกขาดก็คุมราคาไปเลยครับ ตอนนี้ที่มันเหมือนผูกขาดเพราะคนมีความรู้สึกว่ามันแพงครับ โดยที่ตัวตลาดเองมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ถ้าตลาดผูกขาดจริงราคาน้ำมันคงแพงกว่านี้อีกเยอะครับ ปั๊มก็มีหลายเจ้าหลาย Brand และโรงกลั่นก็มี 7 โรงในประเทศที่แข่งขันกันอยู่ การที่บอกว่า ปตท สามารถกำหนดราคาได้เองนั้นโดยอิสระ และเป็นการผูกขาดนั้น ก็ไม่น่าจะถูกต้องครับ เพราะปตท นั้นมี Market share การขายน้ำมันในประเทศไทยประมาณ 30% (จาก http://www.doeb.go.th/information/info_conclude52.html) ถ้าเกิดกำหนดราคาเองโดยตามใจชอบ คนก็หันไปเติมปั๊มอื่นได้ครับ ดังนั้นไม่ว่าจะมองมุมไหนตลาดก็ยังคงเสรีครับ เรื่องนี้ก็ไม่เข้าใจครับว่ามันผูดขาดยังไง

ตัวอย่างความเข้าใจผิดว่าธุรกิจพลังงาน เป็นธุรกิจที่ผูกขาด อยู่ในหน้า 10 จากหนังสือ "พลังงานไทย..พลังงานใคร?" ครับ

ก่อนจะไปคุยเรื่องก๊าซธรรมชาติกัน ผมขอสรุปเรื่องของการกลั่นไว้ดังนี้ครับ

“การลดค่าการกลั่น มิได้ช่วยให้ราคาน้ำมันถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ และธุรกิจการกลั่นมิใช่ธุรกิจที่ผูกขาดแต่อย่างใด แต่การควบคุมราคาต่างหาก ที่จะทำให้เกิดการผูกขาดขึ้น และจะทำให้ไม่มีเอกชนรายใดกล้ามาลงทุน จึงเป็นการกีดกันการค้าเสรีครับ”